อันตรายจากงานก่อสร้างป้องกันอย่างไร?

by prawit
2.7K views
อันตรายจากงานก่อสร้างป้องกันอย่างไร

หากพูดถึงอุบัติเหตุในการทำงาน สายงาน ‘ก่อสร้าง’ ถือว่าเป็นงานที่มีความเสี่ยงเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากเป็นสายงานที่มีปัจจัยที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายขณะทำงานได้รอบด้าน เช่น อันตรายจากการทำงานบนที่สูง อันตรายจากการทำงานกับเครื่องจักร อันตรายจากวัตถุไวไฟ รวมไปถึงอันตรายที่เกิดจากความประมาท เป็นต้น ซึ่งทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุในงานก่อสร้าง หากเป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็จะส่งผลให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย แต่ถ้าเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงแน่นอนว่าสามารถนำมาซึ่งความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่อาจประเมินค่าได้

จากสถิติของ ‘สำนักงานประกันสังคม’ ในช่วงปี พ.ศ. 2559 – 2563 ระบุว่าธุรกิจงานก่อสร้างเป็นกิจการที่มีจำนวนลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานสูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยพบว่ามีลูกจ้างประสบอันตรายทั้งสิ้น จำนวน 7,129 ราย หรือคิดเป็น 7.97% ต่อปี ของจำนวนการประสบอันตรายทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ ทั้งผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบถึงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ตลอดจนแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอันตรายต่างๆ ขณะทำงาน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ประเภทงานก่อสร้างเสี่ยงอันตราย

5 ประเภทงานก่อสร้างเสี่ยงอันตราย

ในสายงานก่อสร้าง ประเภทของงานก่อสร้างที่ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงอันตรายสูงโดยอ้างอิงจากการเก็บสถิติของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งสรุปจากยอดจำนวนของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะทำงานในงานก่อสร้างประเภทต่างๆ พบว่ามีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท ได้แก่

  1. งานการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย
  2. งานการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย
  3. งานการก่อสร้างถนน สะพาน และอุโมงค์
  4. งานการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับสายส่งไฟฟ้ากำลังและสายสัญญาณสื่อสาร
  5. งานติดตั้งไฟฟ้า

 

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุในงานก่อสร้าง

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุในงานก่อสร้าง

สาเหตุที่ถือเป็นปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุในงานก่อสร้างสามารถแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุหลักๆ ได้ดังนี้

  1. อุบัติเหตุจากตัวบุคคล

ในข้อนี้สาเหตุของอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากความประมาทในการทำงาน เช่น การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม การไม่สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย ฯลฯ และจากการขาดความชำนาญในสายงาน รวมไปถึงความพร้อมของสุขภาพร่างกายและสภาวะจิตใจ เช่น อาการเจ็บป่วยที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานด้อยลง การขาดสมาธิจดจ่อในการทำงาน เป็นต้น

  1. อุบัติเหตุจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน

สภาพล้อมในบริเวณพื้นที่ทำงานถือว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะการทำงานก่อสร้างบนที่สูงจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือแม้แต่แสงสว่างก็สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่น แสงที่สว่างจ้าจนทำให้ตาพร่ามัว มองไม่ชัด และการทำงานในช่วงเวลากลางคืนที่แสงสว่างไม่เพียงพอจนเป็นอุปสรรคในการทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุที่เกิดจากสภาพอากาศ เช่น ลมแรงส่งผลต่อการทำงานบนนั่งร้าน การทำงานในที่โล่งแจ้งที่เสี่ยงต่อการโดนฟ้าผ่าขณะเกิดฝนตก เป็นต้น

  1. อุบัติเหตุจากเครื่องมือและเครื่องจักร

เนื่องจากงานก่อสร้างต้องอาศัยเครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ ในการทำงาน แต่บางครั้งคนทำงานก็มักที่จะหลงลืมตรวจเช็คอุปกรณ์ก่อนทำงาน หรือไม่ดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ขณะที่บางกรณีก็ขาดความรู้ความชำนาญในการใช้งาน จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

แนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุจากงานก่อสร้าง

แนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุจากงานก่อสร้าง

วิธีการที่จะช่วยลดทอนการเกิดอุบัติเหตุ หรือเบาบรรเทาความรุนแรงของอุบัติเหตุจากงานก่อสร้างมีด้วยกัน 3 แนวทางดังนี้

การสร้างความปลอดภัยของสถานที่ ในที่นี่ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่บริเวณที่กำลังดำเนินงานก่อสร้าง แต่ยังรวมไปถึงสถานที่สำหรับจัดเก็บวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างด้วย ซึ่งควรที่จะต้องจัดให้มีการจัดการดังต่อไปนี้

  • ทำรั้วรอบขอบชิดกั้นบริเวณก่อสร้างทั้งหมด เพื่อกันบุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานเข้ามาในเขตก่อสร้าง
  • แบ่งโซนที่พักอาศัย (คนงาน) ออกจากเขตก่อสร้างและพื้นที่จัดเก็บวัสดุและเครื่องมือ
  • จัดทำป้ายสัญลักษณ์ ป้ายเตือนภัย หรือข้อปฏิบัติสำหรับผู้จะเข้าไปในบริเวณเขตก่อสร้างซึ่งถือเป็นพื้นที่อันตราย โดยจะต้องเป็นป้ายที่มีขนาดที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
  • ควรมีการติดตั้งแผ่นกั้นพร้อมด้วยตาข่ายคลุมอีกชั้น เพื่อป้องกันวัตถุที่อาจจะร่วงหล่นลงมาขณะทำงาน
  • สำหรับการก่อสร้างอาคารที่มีช่องเปิดหรือบริเวณที่ไม่มีแผงกั้น ควรจะต้องทำราวกั้นและติดตั้งตาข่าย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุการผลัดตก

การสร้างความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือและเครื่องจักร อุบัติเหตุจากการใช้เครื่องมือหรือเครื่องจักร นับเป็นอุบัติเหตุใกล้ตัวที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับผู้ที่ทำงานก่อสร้าง โดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

  • ควรใช้งานให้ถูกต้องตามคุณสมบัติของอุปกรณ์นั้นๆ
  • ก่อนใช้งานจริง ควรศึกษาวิธีการใช้งานเครื่องมือหรือเครื่องจักรให้เข้าใจโดยละเอียดเสียก่อน และควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในความปลอดภัยโดยเฉพาะ
  • เครื่องมือหรือเครื่องจักรทุกประเภทควรมีระบบเซฟตี้ที่ได้มาตรฐาน
  • หมั่นตรวจสอบและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งก่อนและหลังใช้งานทุกครั้ง

การสร้างความปลอดภัยสำหรับบุคคล สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำงานก่อสร้าง  ผู้ปฏิบัติงานเองจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เรื่องความปลอดภัย และต้องทำตามกฎระเบียบของเขตก่อสร้างนั้นๆ อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ข้อควรปฏิบัติสำหรับการทำงานในเขตก่อสร้างได้แก่

  • ควรสวมใส่เครื่องแต่งกายที่รัดกุม ต้องไม่ปล่อยให้ชายเสื้อหรือแขนเสื้อหลุดลุ่ย เพราะชิ้นส่วนของเสื้อผ้าอาจเข้าไปติดกับเครื่องจักรได้
  • ต้องสวมใส่อุปกรณ์นิรภัยหรืออุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลทุกครั้ง
  • ห้ามดื่มสุรา ของมึนเมา หรือเสพสิ่งเสพติด
  • ขณะทำงานต้องไม่เล่นหรือหยอกล้อกัน
  • ควรมีการตรวจสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานอยู่สม่ำเสมอ
  • ควรจัดให้มีหน่วยปฐมพยาบาล หรือหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉิน เมื่อเกิดอุบัติเหตุสามารถเข้าให้การช่วยเหลือได้ทันที
  • จัดอบรมให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัยขณะทำงาน

 

อบรมความปลอดภัย 6 ชม กับ Safetymember หลักสูตรมาตรฐานสากล ที่ได้รับการยอมรับทั่วประเทศ จากองกรณ์ชั้นนำ

บริการอื่นๆของ Safetymember

บทความน่าสนใจ

ใบอนุญาตกรมสวัสดิการฯ

jorpor certificate safety member

คลิกรูปเพื่อขยาย

ได้รับมาตรฐาน ISO 9001

คลิกรูปเพื่อขยาย

บริษัท เซฟตี้ เมมเบอร์

เลขที่ 349 อาคารเอสเจ อินฟินิท วัน บิสซิเนส คอมเพล็กซ์ ชั้น 20 ห้องเลขที่ 2001-2005  ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

อีเมล

โทรศัพท์

คุณ แนน

เพิ่มเพื่อน

©2024 , A Media Company – All Right Reserved. Designed and Developed by safetymember safety member